เวลาที่เราไปซื้อ Windows หรือ Office มาใช้งานทั้งสำหรับใช้งานและซื้อเพื่อใช้ในองค์กร เรามักจะได้ยินคำว่า FPP (Full Packaged Product) และ OEM (Original Equipment Manufacturer) เสมอ จริงๆ สองชื่อนี้เป็นชื่อที่เรียก channel หรือช่องทางการสั่งซื้อครับ แต่พอเอามาอ้างอิงรูปแบบสิทธิ์การใช้งานบ่อยๆ เข้า สองคำนี้ก็เลยกลายเป็นชื่อเรียกสิทธิ์การใช้งานของซอฟต์แวร์ไมโครซอฟท์ไปโดยอัตโนมัติ
ซึ่งนอกจากสองช่องทางดังกล่าวแล้วยังมีช่องทางประเภท Volume Licensing อีก ช่องทางนี้เป็นการซื้อสิทธิ์แบบเหมาที่มีขั้นต่ำในการสั่งซื้อ 5 สิทธิ์ขึ้นไป (ไว้กล่าวในอีกบทความหนึ่งแล้วกันนะครับ)
การแยกแยะความต่างของ FPP และ OEM นั้นสำคัญต่อความถูกต้องของการใช้งานมากดังนั้นต้องศึกษาประเด็นเหล่านี้ให้แม่นยำก่อนสั่งซื้อครับ
FPP เป็นสิทธิ์ที่ซื้อมาจากร้านค้าปลีกตามห้างสรรพสินค้าชั้นนำและมีรูปแบบแพ็คเกจเป็นกล่อง (ส่วนมากเป็น 1 กล่องต่อ 1 License) FPP นี้เหมาะกับองค์กรที่มีความต้องการใช้ Commercial License ต่ำกว่า 5 License ครับ
ที่บอกว่า Commercial License นี้หมายถึงว่าต้องเป็น edition ที่ Microsoft ออกแบบมาเพื่อธุรกิจนะครั้บซึ่งได้แก่
- Windows 10 Pro
- Office Home & Business 2016
- Office Professional 2016
เท่านั้น ซึ่งแน่นอนว่าสินค้ากล่องต่อไปนี้ซื้อใช้ส่วนตัวได้ แต่นำมาใช้ติดตั้งในองค์กรไม่ได้ เพราะ edition ไม่ถูกต้องครับ ซึ่งได้แก่
- Windows 10 Home
- Office Home & Student 2016 for PC
- Microsoft 365 Personal
- Microsoft 365 Family
ทั้ง 4 ตัวที่กล่าวมาไม่สามารถนำมาอ้างอิงการติดตั้งใช้งานในองค์กรได้ครับ
คุณสมบัติของ FPP ที่ชัดเจนคือเป็น Full License หรือเรียกง่ายๆ ว่าเป็น Base License ที่ติดตั้งลง naked PC ก็ว่าได้ หรือจะซื้อมาเพื่อทำการ upgrade เวอร์ชั่นเดิมของซอฟต์แวร์นั้นๆ ก็ได้เช่นกัน
ประเด็นนี้จะไปเห็นภาพชัดเจนเมื่อกล่าวถึง Volume Licensing อีกครั้ง เพราะสิทธิ์จาก Volume Licensing นั้นเป็น Upgrade only ที่ลูกค้าต้องมี base OS อยู่แล้วเท่านั้น เพียงแต่ Open License เองมี SKU หนึ่งที่ชื่อ Windows Legalization (เดิมชื่อ GGWA) ที่สามารถ legalize เครื่องพีซีทุกประเภทให้เป็น base OS ได้ทันทีที่ติดตั้ง product key ครับ
เมื่อซื้อ FPP มาแล้ว นั้นแปลว่าคุณได้ซื้อสัญญาใจ (agreement) กับ Microsoft แล้วเรียบร้อย จำไว้เสมอนะครับสิ่งที่คุณซื้อมาจาก Microsoft ผ่านร้านค้าปลีกเหล่านั้น ไม่ใช่กล่องกระดาษ หรือแผ่นซีดีติดตั้ง แต่คุณซื้อ agreement อะไรบางอย่างจากผู้ผลิตที่มอบสิทธิ์และบริการให้แก่คุณ (ที่เรียกว่า Use Rights) เช่น สิทธิ์ในการย้ายเครื่องใหม่ สิทธิ์ในการลงได้มากกว่า 1 เครื่อง (กรณี Home & Student) ตลอดจนสิทธิ์ที่นำไปใช้ในองค์กรได้หรือไม่
การอ่านดูว่า FPP มีสิทธิ์อะไรบ้างนั้น ต้องดูจากเอกสารที่ Microsoft เรียกว่า Microsoft Software Licence Terms สามารถดูได้จาก http://www.microsoft.com/en-us/legal/IntellectualProperty/UseTerms/Default.aspx
ส่วนการสนับสนุนของลูกค้าที่ซื้อ FPP นั้นจะได้รับ limited support จาก Microsoft ซึ่งลูกค้าสามารถดูได้จาก http://support.microsoft.com/common/international.aspx
ส่วนสิ่งที่จะยืนยันความถูกต้องของการถือครองก็มีต่อไปนี้ครับ
- กล่องที่ซื้อมา
- ใบเสร็จรับเงิน
- สติ๊กเกอร์ Hologram ที่ติดมากับกล่องและต้องแปะลงเครื่องที่ติดตั้งซอฟต์แวร์นั้น
ซอฟต์แวร์ที่ซื้อมาจาก OEM นั้นจะต้องเป็นวอฟต์แวร์ที่มาพร้อมฮาร์ดแวร์เท่านั้น (ไม่ว่าจะเป็น PC, Server หรือ Mobile) ศัพท์ในวงการจะเรียกกันว่าเป็น Windows 10 Pre-installed ประมาณนี้ครับ ขอดีของ OEM คือมีราคาถูก เพราะรวมกับค่าฮาร์ดแวร์แรกซื้อแล้ว และกรณีเกิดปัญหา การขอความช่วยเหลือสามารถขอได้จากผู้ผลิตฮาร์ดแวร์และ Microsoft ด้วย
คำอธิบายสิทธิ์ของ OEM ดูได้กจากเอกสารที่มีชื่อว่า Microsoft Software Licence Terms พร้อมสิทธิ์ต่างๆ เช่น downgrade ว่าสามารถดาวน์เกรดลงไปได้ถึงเวอร์ชั่นไหน แต่ OEM นี้เป้นสิทธิ์ที่ตายพร้อมเครื่องหรือหากมีการเปลี่ยน mainboard ก็ต้องซื้อ Windows มาลงใหม่ด้วยเช่นกัน รวมทั้งไม่สามารถย้ายเครื่องได้ เพราะทันทีที่ลงแล้วก็จะอยู่กับฮาร์ดแวร์นั้นไปตลอดแบบ per Device license ครับ เว้นแต่คุณขาย laptop หรือ PC นั้นให้เจ้าของใหม่นั้นไปเลย)
ส่วน edition ของ OEM ที่สามารถนำมาใช้กับองค์กรได้นั้นได้แก่ Edition ต่อไปนี้
- Windows 10 Pro
- Office Home & Business 2016
- Office Professional 2016
ส่วนตัวอื่นๆ ไม่สามารถทำได้ครับ เหมือนกัน edition ใน FPP ที่กล่าวไว้ข้างต้น
ส่วนสิ่งที่จะยืนยันความถูกต้องของการถือครองก็มีต่อไปนี้ครับ
- ใบเสร็จรับเงิน
- สติ๊กเกอร์ Hologram ที่ติดมากับฮาร์ดแวร์ที่ซื้อ
ในอีกช่องทางหนึ่งคือ Volume Licensing ที่องค์กรจ้องสั่งซื้อจาก reseller ในประเทศครับ ขอกล่าวสั้นๆ ในสิทธิ์ประเภทนี้เพื่อให้เข้าใจความต่างของ FPP และ OEM นะครับ
Volume Licensing เป็นช่องทางที่ซื้อแบบเหมาและซื้ออะไรก็ได้ (ทั้งซอฟต์แวร์และคลาวด์) มีขั้นต่ำ 5 license ขึ้นไป มี agreement ให้ลงนามหลากหลายตามแต่ขนาดขององค์กร ถ้า size เล้กๆ หรือกลางๆ ก็จะนิยมซื้อผ่าน Open Agreement หรือ Open Value ถ้าขนาดใหญ่ๆ เลยก็เป็น Select Plus หรือ Enterprise Agreement
สิทธิ์การใช้งานนี้มีปัจจัยควบคุมหลายอย่าง Use Rights ของซอฟต์แวร์แต่ละตัวดูข้อมูลได้จากเอกสารชื่อ Product List และ Product Use Rights (PUR) จาก http://www.microsoftvolumelicensing.com
รายละเอียดของ Volume Licensing นั้นเข้าใจยาก ต้องหาที่ปรึกษามาอธิบายกันยาวเหยียดถึงที่มาที่ไปของสิทธิ์ต่างๆ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น การเริ่มต้นด้วยการเข้าใจความต่างของ FPP และ OEM ก่อนจะทำให้ทุกอย่างเป็นไปได้ราบรื่นขึ้นครับ
---
จัตุรภุช นิลัมภาชาต
Microsoft Certified Product Specialist (MCPS)